ไมเกรน เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะที่เจอได้บ่อยถึง 20 - 30% เลยค่ะ แต่จากประสบการณ์ของหมอ พบว่าคนที่เป็นไมเกรนมักจะไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง รักษาไม่ต่อเนื่อง หรือใช้การซื้อยาทานเอง บางท่านทานยาแก้ปวดเยอะเกินไป และทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จนทำให้ดื้อยา มีปัญหาโรคตับ โรคไต หรือกลายเป็นปวดศีรษะเพิ่มขึ้นจากการทานยามากเกินไปก็ได้ค่ะ
หลายท่านที่มาปรึกษาหมอมักคิดว่า ไมเกรนเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ ต้องทนไปทุกเดือน เวลาเป็นก็ทำได้แค่กินยาแก้ปวด ซึ่งหมออยากให้คนไข้ไมเกรนทุกคนทำความเข้าใจใหม่ค่ะว่า ไมเกรนรักษาได้นะคะ อย่างน้อยที่สุดก็คือไม่ต้องทนปวดทุกเดือน ไม่ต้องปวดจนอาเจียน จนต้องหยุดงาน
ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้การรักษาไมเกรนประสบผลสำเร็จ คือการหาสาเหตุให้เจอ รักษาให้ตรงจุด เลือกใช้ยาอย่างเหมาะสม คนไข้ก็จะหายจากอาการปวดได้จริง ๆ กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นค่ะ
อาการไมเกรน จะมีลักษณะปวดแบบตุ๊บ ๆ ปวดเป็นจังหวะ มักจะเป็นแค่ศีรษะข้างเดียว (แต่บางท่านก็เป็นสองข้างได้นะคะ) ไมเกรนมักจะมีอาการอื่น ๆ ด้วยนอกจากแค่ปวดศีรษะค่ะ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกไวต่อแสง และเสียง และบางรายก็อาจจะมีอาการเวียนศีรษะ ชา ร่วมด้วยได้ อาการปวดมักจะเป็นได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมง จนถึงปวดทั้งวันเลยค่ะ และอาจจะปวดจนทนไม่ไหว จนต้องหยุดงาน รบกวนชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง เพราะต้องคอยทนและระแวงกับอาการปวด
ในหลาย ๆ ท่านมักจะมีอาการนำมาก่อนที่จะปวดศีรษะ ซึ่งเราเรียกว่า ออร่า (Aura) ซึ่งจะมีได้หลายอย่างค่ะ เช่น ตามัว เห็นแสงลอย ๆ แสงแฟลช หรือเห็นเป็นจุดดำ ๆ ขึ้นมา บางท่านก็อาจะมีอาการชายุบยิบ ที่หน้า หรือแขนขา ข้างนึง รวมถึงรู้สึกพูดลำบากด้วยค่ะ ซึ่งเราสามารถแบ่งระยะของอาการปวดศีรษะไมเกรนได้เป็น 4 ระยะตามนี้ค่ะ (ซึ่งทุกท่านไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 4 ระยะ และบางท่านก็อาจจะไม่เป็นตามนี้นะคะ)
อาการไมเกรน
1. ระยะก่อนมีอาการ (Prodrome)
เป็นอาการของร่างกายบางอย่าง ที่จะนำมาก่อนปวดไมเกรน ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมง จนถึงหลายวันก็ได้ เช่น ท้องผูก อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด หรือร่าเริ่งผิดปกติ อยากอาหารผิดปกติ คอแข็ง ปวดคอ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย หรือ หาวบ่อย ๆ
2. ระยะออร่า (Aura)
มักจะเกิดก่อนช่วงใกล้ๆจะปวดศีรษะประมาณ 30 นาที (ไม่เกิน 1 ชั่วโมง) และมักมีอาการอยู่ไม่นาน (ตั้งแต่ 5 นาที แต่มักไม่เกิน 1 ชั่วโมง) ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะเป็นอาการทางตา ได้แก่เห็นแสงแฟลชเป็นจุดดำๆ หรือเห็นเป็นแสงซิกแซกขาวๆในตา เห็นแสงสว่างจ้า หรือในบางรายอาจจะมีอาการชา รู้สึกไม่มีแรงได้ค่ะ
3. ระยะปวดไมเกรน (Headache)
คือระยะที่มีอาการปวดศีรษะ ลักษณะตามอาการที่กล่าวข้างต้น โดยส่วนใหญ่ อาการปวดเฉลี่ย 4 -72 ชั่วโมงค่ะ ซึ่งถ้าเรารักษาได้ถูกต้อง อาการปวดก็จะหยุดได้เร็วขึ้น แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้ปวดไปเรื่อย ๆ ก็จะยิ่งทำให้อาการเป็นนานขึ้น และมีบางรายที่อาจจะปวดเกิน 72 ชั่วโมงได้ ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะต้องไปฉีดยาหรือรักษาในรพ.ค่ะ
4. ระยะหลังมีอาการ (Postdrome)
เป็นระยะหลังจากอาการปวดศีรษะดีขึ้น แต่ยังมีอาการอ่อนเพลีย หมดแรง รู้สึกไม่มีสมาธิ สับสน
หรือบางรายอาจจะรู้สึกอารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้าได้ค่ะ ซึ่งอาการจะหายไปใน 48 ชั่วโมง
การรักษาไมเกรน
อย่างแรกต้องแก้ที่ความเข้าใจผิดกันก่อนค่ะ หลาย ๆ ท่านมักจะคิดว่า ไมเกรนรักษาไม่ได้ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความเครียดหรือตัวกระตุ้นอื่น ๆ เวลามีอาการก็แค่ทนเอาหรือไปซื้อยาแก้ปวดทานเอง แต่จริงๆ แล้วความเครียดเป็นแค่ตัวกระตุ้นอย่างหนึ่งเท่านั้น และไมเกรนเป็นโรคที่มียารักษาเพื่อไม่ให้อาการปวดศีรษะกำเริบบ่อย ๆ ได้ค่ะ ถ้าเราเข้าใจกลไกการเกิดโรคปวดศีรษะไมเกรนก็จะเลือกใช้ยาและรักษาได้อย่างถูกต้องค่ะ
โรคปวดศีรษะไมเกรน เป็นโรคที่สมองอยุ่ในสภาวะที่ไวต่อการกระตุ้น เมื่อมีสิ่งใดๆมากระตุ้น เช่นแสงแดด กลิ่น ความเครียด หรือประจำเดือน จะเกิดการกระตุ้นระบบหลอดเลือดและเส้นประสาทที่สมอง (trigeminovscular system) กระตุ้นให้เซลล์ประสาทหลั่งสารบางตัวที่สำคัญคือ substance P และ CGRP ทำให้หลอดเลือดเกิดการหดและขยายตัวที่ผิดปกติ ทั้งหลอดเลือดภายในกระโหลกศีรษะ (cerebral vessels) และหลอดเลือดที่ผิวสมอง (dural vessels) ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบและความปวดตามมาในที่สุด นอกจากนี้กลไกการเกิดโรคยังเกี่ยวข้องกับการหลังสารสื่อประสาทเซโรโตนิน (5-HT) ที่ผิดปกติ ทำให้เกิดหลอดเลือดขยายตัวและความปวดในระบบอื่นๆของร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งความไวต่อการกระตุ้นนี้อาจจะมีปัจจัยทางพันธุกรรมเกี่ยวข้องได้ค่ะ ทำให้คนที่ปวดศีรษะไมเกรน อาจจะมีคนในครอบครัวเป็นเหมือนกันได้ โดยเฉพาะในเพศหญิงด้วยกันค่ะ
การรักษาไมเกรน ไม่ใช่แค่การทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการกำเริบเท่านั้น แต่ต้องรักษาเพื่อให้สมองไม่ถูกกระตุ้นได้ง่าย และยับยั้งการหลั่งสารในสมอง ที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวด้วย ซึ่งจะสามารถคุมให้อาการไม่กำเริบบ่อย ๆ ได้ค่ะ
ซึ่งสิ่งแรกที่หมอต้องทำสำหรับการรักษาไมเกรน คือการซักประวัติอย่างละเอียดก่อนค่ะ ว่าอาการปวดของคนไข้เป็นไมเกรนจริง ๆ หรือเปล่า หรือมีโอกาสที่จะมีโรคร้ายแรงอื่น ๆ ซ่อนอยู่หรือไม่ ถ้าวินิจฉัยแล้วว่าเป็นไมเกรนจริง ๆ หมอก็จะเริ่มการรักษา โดยแบ่งวิธีการรักษา เป็น 5 แบบหลักๆ ค่ะ
1.การรักษาไมเกรนโดยไม่ใช้ยา
เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุดและควรทำทุกคนค่ะ ไม่ว่าจะมีอาการมากหรือน้อย ซึ่งหมอจะพยายามหาสาเหตุหลักที่เป็นตัวกระตุ้นไมเกรนของคนไข้คือว่าอะไร และพยายามให้หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นนั้นให้ได้ค่ะ ซึ่งในไมเกรนมีตัวกระตุ้นได้มากมายเลย ตั้งแต่ อากาศร้อนจัด เย็นจัด แสงจ้า กลิ่นบางอย่าง ควันบุหรี่ น้ำหอม อาหารพวกชีส ช็อกโกแลต กาแฟ แอลกอฮอล์ รวมไปถึงฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงช่วงมีประจำเดือน ดังนั้นแต่ละคนควรสังเกตอาการตัวเอง และหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นนั้น ๆ เพื่อไม่ให้ปวดศีรษะกำเริบค่ะ นอกจากการปรับพฤติกรรมแล้ว ก็ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่สามารถช่วยได้ค่ะ ทั้งการทำกายภาพบำบัด การทำ PMS การใช้การนวด หรือการใช้วิตามินและอาหารเสริมบางชนิด ซึ่งหมอก็จะเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละท่านค่ะ
2.รักษาไมเกรนด้วยยาแก้ปวด
สำหรับคนไข้ที่มีอาการปวดกำเริบแล้ว คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ยาแก้ปวดเพื่อระงับอาการปวดให้เร็วที่สุดค่ะ เพราะถ้าปวดแล้วไม่รีบทานยาลดปวดจะยิ่งทำให้อาการปวดเป็นนานมากขึ้น เพราะการที่หลอดเลือดเกิดการขยายและหดตัวเรื่อยๆ จะยิ่งเกิดการหลั่งสารการอักเสบและทำให้ปวดนานขึ้น บางท่านอาจจะปวดนานถึง 2-3 วันได้เลยค่ะ ในการให้ยาแก้ปวดคนไข้ไมเกรน สำหรับหมอแล้วสิ่งสำคัญคือ เราจะต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะใช้ยาแก้ปวดและจะใช้ในปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสมค่ะ เพราะถ้าคนไข้ทานยาแก้ปวดบ่อยจนเกินไป ก็จะทำให้ติดยาแก้ปวดและปวดหัวจากยาแทนได้เช่นกันค่ะ โดยปกติ เราไม่ควรจะทานยาแก้ปวดเกินประมาณ 10-15 เม็ดต่อเดือนค่ะ (ขึ้นกับชนิดของยา) หากใครที่ทานมากกว่านี้ก็ควรจะใช้วิธีการรักษาอื่น ๆ ควบคู่กัน เช่นการใช้ยาป้องกันไมเกรนค่ะ
3.รักษาไมเกรนด้วยยาป้องกันชนิดรับประทาน
หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ไมเกรนมียาป้องกันหรือยารักษาได้ ซึ่งจริง ๆ แล้วการรักษาไมเกรนให้หายแบบไม่มีอาการปวดเลย จำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ร่วมด้วยค่ะ ซึ่งหมอก็จะพิจารณาให้ยากลุ่มนี้สำหรับท่านที่เป็นมากนั่นคือ มีอาการปวดเกิน 4 ครั้งต่อเดือน หรือปวดน้อยกว่านี้แต่ปวดรุนแรงจนต้องหยุดทำงาน รวมไปถึงท่านที่มีการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด หมอจะมีการพิจารณาให้ยากลุ่มป้องกันด้วยเช่นกันค่ะ
การใช้ยาในกลุ่มป้องกันไมเกรน จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดจนถึงขึ้นหายขาดได้ด้วย ถ้าได้รับการรักษากินยาอย่างถูกต้องและต่อเนื่องค่ะ ซึ่งยากลุ่มป้องกันนี้ มีความปลอดภัยกว่ายาแก้ปวด ไม่ค่อยมีผลต่อการทำงานของตับหรือไต สามารถทานระยะยาวได้ แต่ก็ไม่ต้องกังวลนะคะ คนไข้ไมเกรนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องทานยารักษาไปตลอดชีวิตค่ะ ถ้าเราคุมอาการปวดได้ดีประมาณ 6-12 เดือน ก็สามารถหยุดยาได้ค่ะ
4.การรักษาไมเกรนด้วยยาฉีด
ยาฉีดรักษาไมเกรนถือว่าเป็นแนวทางรักษาสำหรับไมเกรนที่ดีที่สุดในปัจจุบันเลยค่ะ เพราะเป็นยาที่รักษาที่ต้นเหตุของโรคไมเกรนจริง ๆ ซึ่งได้ผลค่อนข้างดีมากในระดับ 70-90% เลยค่ะ ซึ่งปัจจุบันก็มียาให้เลือกใช้หลายยี่ห้อเลยค่ะ เช่น Erenumab (หรือ Aimovig) , Galcanezumab (หรือ Pontevia) และ Fremanezumab (หรือ Ajovy) ซึ่งยาทั้งหมดนี้ได้ผ่านการรับรองการใช้จาก อย.ทั้ง US FDA และประเทศไทยแล้วค่ะ
การใช้ยาฉีดเหมาะสำหรับท่านที่มีอาการปวดศีรษะกำเริบรุนแรง หรือบ่อยเกิน 4 ครั้งต่อเดือนจนมีปัญหาการทำงานหรือการใช้ชีวิต โดยตัวยาจะออกฤทธิ์แย่งจับกับตัวรับสัญญาณ CGRP ทำให้ส่งสัญญาณต่อไม่ได้ ทำให้ไม่เกิดการขยายตัวของหลอดเลือดและไม่เกิดการอักเสบ จึงไม่เกิดความปวดตามมา วิธีนี้เป็นการแก้ที่ต้นเหตุจริง ๆ จะไม่เหมือนกับ การทานยาแก้ปวดเมื่อมีอาการค่ะ
สำหรับวิธีฉีด จะเป็นการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง บริเวณหน้าท้อง ฉีดเพียงเดือนละครั้ง ซึ่งสามารถลดอาการกำเริบจากไมเกรนได้มากกว่า 70% โดยอาการจะดีขึ้นตั้งแต่เข็มแรกเลยค่ะ เฉลี่ยหลังฉีด 2-4 สัปดาห์ อาการปวดก็จะเริ่มลดลง และเมื่อฉีดไป 3-6 เดือน จะพบว่า คนไข้มีอาการปวดศีรษะที่ลดลงมากจนแทบไม่มีอาการ หรือบางท่านอาการปวดอาจจะหายไปเลยได้ค่ะ
ข้อดีของยาฉีด คือฉีดเพียงเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ได้ผลดีและเร็ว และผลข้างเคียงน้อยมากค่ะ (เทียบกับยาป้องกันแบบรับประทานจะต้องทานทุกวัน และมีผลข้างเคียงมากกว่า) ส่วนข้อเสียก็น่าจะเป็นเรื่องของราคาที่ยังสูงอยู่ แต่ก็ถือว่าคุ้มค่ากับผลลัพธ์ที่ได้ค่ะ
5.รักษาไมเกรนด้วย Botulinum toxin
นอกเหนือจากยาป้องกันที่เป็นยาฉีดและยารับประทานแล้ว ยังมีการนำ Botulinum toxin A มารักษาไมเกรนด้วยค่ะ โดยจะเหมาะสำหรับคนไข้ไมเกรนที่เป็นเรื้อรัง นานเกิน 15 วันต่อเดือน หรือมีอาการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงและความเครียดร่วมด้วย โดย Botulinum toxin จะมีฤทธิ์ในการคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเราจะฉีดไปในตำแหน่งที่กล้ามเนื้อที่สัมพันธ์กับอาการปวดไมเกรน ก็จะช่วยให้อาการปวดศีรษะลดลงได้ โดยฉีดครั้งละประมาณ 100-150 ยูนิต กระจายหลายๆจุด สามารถช่วยลดอาการปวดศีรษะได้ มากกว่า 50% แนะนำให้ฉีดซ้ำทุก 3-6 เดือนค่ะ
ไมเกรนเป็นโรคที่รักษาได้นะคะ แต่น่าเสียดายที่คนไข้ไมเกรนส่วนใหญ่ยังไม่รู้และยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้ต้องทุกข์ทรมาน กับอาการปวดอย่างยาวนาน ส่งผลทั้งชีวิตตนเอง คนรอบข้าง และการทำงาน หลายๆท่านที่มีอาการปวดเรื้อรัง มักจะมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และปัญหาด้านจิตใจร่วมด้วย หมอจึงอยากให้ทุกท่านได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ได้กลับไปใช้ชีวิตที่มีความสุขยิ่งขึ้นค่ะ
หมอนุ่ม
พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์
แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง
รีวิวจากลูกค้าจริง
ทำความรู้จักหมอนุ่ม
หมอนุ่ม (พญ. ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์) เป็นหมอด้านโรคระบบประสาทและสมอง เน้นการรักษาด้วยการใช้ยา และปรับพฤติกรรมเป็นหลัก โรคที่รักษาจะมีตั้งแต่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้ามืด ตามัว อาการชา อ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต พาร์กินสัน โรคลมชัก และ สมองเสื่อม