ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไขมันในเลือดสูง อัมพาตได้เลยไม่มีสัญญาณเตือน !!!

ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hypercholesterolemia) คือภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดมากกว่าปกติ  ไม่ว่าจะเป็น คลอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมันไม่ดีที่เรียกว่า LDL

ซึ่งไขมันเหล่านี้เมื่อมีการสะสมเป็นปริมาณมาก ก็จะเกาะเข้ากับผนังด้านในของหลอดเลือด จนอุดทางผ่านของเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองหรือหัวใจไม่พอ ตามมาด้วยโรค Stroke เส้นเลือดสมองตีบ ตัน หัวใจวาย กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมไปถึง โรคที่เกี่ยวกับเลือดส่วนปลายอื่น ๆ นั่นเองค่ะ



 

มีผู้ป่วยหลายท่าน ที่รู้ว่าตัวเองเป็นไขมันในเลือดสูง แต่ก็ไม่ยอมกินยาเพราะกลัวผลข้างเคียงจากยา บางท่านเคยได้ยินว่ายารักษาไขมันในเลือดสูงมีผลเสียต่อตับ ก็ปล่อยปละละเลยคิดว่าไม่ได้มีอาการอะไรน่าเป็นห่วงร่างกายปกติแข็งแรงดี

หรือในบางท่าน ที่ไม่เคยตรวจสุขภาพ มารู้ว่าตัวอีกทีว่ามีไขมันในเลือดสูง ก็ตอนที่มีอาการเส้นเลือดอุดตันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเส้นเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต เส้นเลือดหัวใจตีบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รักษาไม่ทันแล้วก็มี จึงอยาก
ให้ทุกคนระวังโรคนี้กันไว้มาก ๆ เลยค่ะ


หลายท่านคิดว่าถ้าไขมันในเลือดสูงน่าจะมีอาการอะไรบ่งบอกบ้าง เช่น เวียนศีรษะ บ้านหมุน มึนหัว ชาศีรษะ แต่ความจริงแล้วอาการเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับไขมันในเลือดสูงเลยค่ะ 

ใครที่เป็นไขมันในเลือดสูงจะไม่รู้เลยว่าตัวเองมีไขมันสูงแค่ไหน กินยารักษาก็ไม่รู้ว่าไขมันลดลงหรือยัง จะรู้ได้แค่จากการตรวจเลือดเท่านั้น หรือจะรู้อีกทีก็คือมีอาการเส้นเลือดอุดตันไปแล้วค่ะ

 และด้วยสาเหตุนี้ทำให้มักจะพบคนที่แข็งแรงดี อยู่ๆก็เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือหัวใจวาย แบบไม่รู้ตัวได้ค่ะ


เวลาเราไปตรวจไขมัน จะมีผลของ คลอเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ HDL และ LDL รวมทั้งหมด 4 ตัวค่ะ สำหรับความเสี่ยงของหลอดเลือดตีบ เราจะดูที่ LDL เป็นหลักค่ะ ถ้า LDL สูงมาก ๆ ก็ยิ่งเสี่ยงมาก ส่วน HDL เป็นไขมันดี ที่สูงแล้วดี ซึ่งจะเพิ่มได้จากการออกกำลังกายค่ะ



นอกจากปริมาณไขมันในเลือดแล้ว ท่านที่ มีภาวะอ้วน ไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า อดนอน อายุเยอะ หรือมีเรื่องของกรรมพันธ์ุด้วย ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นค่ะ 

สำหรับการตรวจไขมันในเลือด อาจเริ่มตั้งแต่อายุน้อยได้เลยในบางท่านที่มีความเสี่ยง หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่โดยทั่วไปแล้ว ในผู้ชายเราจะแนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 35 ค่ะ แต่ถ้าผู้ชายที่อ้วน มีเบาหวาน ความดัน สูบบุหรี่ หรือมีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดตีบ ก็เริ่มตรวจได้ตั้งแต่ 25 เลยค่ะส่วนในผู้หญิงก็แนะนำเริ่มตรวจตอนอายุ 45 ค่ะ แต่ถ้ามีความเสี่ยง ก็ตรวจตั้งแต่ 30 ได้เลยค่ะ


ท่านใดที่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงที่จะเป็นไขมันในเลือดสูงก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรักษานะคะ เริ่มต้นจากการปรับพฤติกรรม การเลือกทานอาหาร ออกกำลังกาย ก็ช่วยลดระดับไขมันได้ค่ะ ส่วนการจะเริ่มกินยาหรือไม่ก็ขึ้นกับค่าไขมันในเลือด อายุ ความเสี่ยงต่างๆค่ะ การกินยาไขมันอาจจะต้องกินไปตลอดชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นจากพันธุกรรม (familial hypercholesterolemia) คนส่วนใหญ่ก็จะกลัวเรื่องผลข้างเคียง กลัวว่าจะมีผลต่อตับ ต่อไต ซึ่งต้องบอกเลยค่ะว่า ผลข้างเคียงของยาไขมันปัจจุบันน้อยมากๆ คุ้มกว่าความเสี่ยงที่จะเป็นเส้นเลือดตีบ อัมพาต หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแน่ ๆ ค่ะ


โรคสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นกันเยอะมากขึ้นจริงๆ นะคะ และเจออายุน้อยลงเรื่อย ๆ บางคนก็หาสาเหตุอื่นไม่เจอนอกจากไขมันในเลือดสูง หมอจึงอยากให้ทุกคนระวังไว้ อย่าคิดว่าไม่มีอาการก็ไม่เป็นไร ยิ่งคนที่ไม่ยอมกินยา แถมยังใช้ชีวิตบนความเสี่ยงด้วย ทั้งกินอาหารไม่ดี ไม่ออกกำลังกาย ดื่มเหล้าด้วย แบบนี้ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น ถ้าใครเจอคนใกล้ตัวแบบนี้ ต้องรีบตักเตือน ให้รีบรักษาเลยนะคะ

สนใจปรึกษาแพทย์


ทำความรู้จักหมอนุ่ม

หมอนุ่ม (พญ. ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์) เป็นหมอด้านโรคระบบประสาทและสมอง เน้นการรักษาด้วยการใช้ยา และปรับพฤติกรรมเป็นหลัก โรคที่รักษาจะมีตั้งแต่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หน้ามืด ตามัว อาการชา อ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต พาร์กินสัน โรคลมชัก และ สมองเสื่อม

 

"หมอเป็นแพทย์มา 13 ปี และดูแลคนไข้โรคสมองมา 7 ปี จะเห็นว่าคนที่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดศีรษะเยอะมากๆ ค่ะ และคนไข้ส่วนใหญ่มักยังมีความเข้าใจผิด เช่นมีความกังวล กลัวว่าจะเป็นโรคที่ร้ายแรง เช่นเนื้องอกในสมอง หรือบางท่านก็คิดว่า อาการปวดหัว นอนไม่หลับ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ต้องกินยาไปเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆแล้ว สาเหตุของอาการปวดหัวมีเยอะมาก และมีทั้งที่รักษาและป้องกันให้หายขาดได้ ซึ่งบางคนทนมาหลายปี ทั้งที่จริง ๆ แล้วรักษาให้หายขาดได้ค่ะ ยิ่งในสภาวะปัจจุบัน ที่ความเครียดพุ่งสูงปรี๊ด คนที่มีปัญหาปวดหัว นอนไม่หลับ ยิ่งเยอะมากขึ้นอีก หมอจึงอยากให้ H8 clinic เป็นที่ที่ให้คำปรึกษา และรักษาคนไข้ได้อย่างตรงจุด เพื่อให้คนไข้ได้กลับมาใช้ชิวิตอย่างมีความสุขค่ะ"

 

อาจารย์แพทย์ผู้ฝึกสอน PMS

 

แวะชมเพจของคุณหมอ

https://www.facebook.com/Doctornum

เขียนบทความให้หน่วยงานต่างๆ