ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เช็คตัวเองเราปวดหัวแบบไหน ?

เชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยตั้งคำถามกับอาการปวดหัวที่ตัวเองเป็นอยู่ ว่าอาการที่ที่ตัวเองปวด มันคือแบบไหนกันแน่ และตัวเองเป็นโรคร้ายแรงอะไรรึเปล่า บางท่านปวดหัวตุ๊บ ๆ ปวดบีบ ๆ ปวดข้างเดียว ปวดเบ้าตา หรือ บางท่านปวดน้ำตาไหล  ซึ่งอาการปวดศีรษะของแต่ละโรคมักจะมีลักษณะอาการปวดและตำแหน่งการปวดที่ต่างกันนะคะ ซึ่งลักษณะเหล่านี้ทำให้สามารถแยกสาเหตุการปวดได้คร่าว ๆ เป็น 4 แบบที่พบกันบ่อย ๆ ดังนี้ค่ะ

 

ปวดไมเกรน

 

1.ปวดไมเกรน
ปวดตุ้บๆ ปวดหัวข้างเดียว เป็นหนึ่งในอาการปวดไมเกรน ที่ถือว่าพบเจอได้บ่อยมากเป็นอันดับ 2 เลยค่ะ (รองจากปวดศีรษะเทนชั่น) โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่น วัยทำงาน สัก 20-40 ปี จะเจอได้ถึง 20% เลยค่ะ ไมเกรนเป็นโรคที่คนคุ้นชื่อและมักจะคิดว่าตัวเองเป็นเวลาปวดหัว ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ก็ได้นะคะ ต้องเช็คให้ชัวร์ก่อน

 

สาเหตุการเกิดไมเกรน

 

สาเหตุการเกิดไมเกรน
สำหรับสาเหตุการเกิดไมเกรน เกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ที่ไปชกระตุ้นระบบเส้นเลือดและเส้นประสาทที่สมอง จนทำให้สมองเกิดการหลั่งสาร CGRP ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว และเกิดเป็นความปวดขึ้นมา ซึ่งปัจจัยกระตุ้นก็มีได้เยอะมาก ตั้งแต่ กลิ่น อาหารบางอย่าง ฮอร์โมน เช่นประจำเดือน อากาศร้อนๆ ความเครียด อดนอน เป็นต้นค่ะ

 

วิธีรักษาไมเกรน

 

วิธีรักษาไมเกรน
การรักษาไมเกรน สำคัญที่สุดคือต้องหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ถ้าคนที่เป็นรุนแรง เป็นบ่อยๆ ก็ต้องรักษา เพื่อให้หายขาด แต่ต้องใช้ยารักษาอย่างถูกต้อง ทั้งยาแก้ปวด ยาป้องกัน รวมไปถึงยาฉีดป้องกันไมเกรนร่วมด้วยค่ะ ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางนะคะ

 

ปวดไซนัส

 

2.ปวดไซนัส
หลายคนน่าจะคุ้นชินเมื่อได้ยินคำว่า ไซนัส ทั้งการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามทั้งวันติดต่อกันหลายๆ วัน จนเสียบุคลิคไปเลยค่ะ ทั้งนี้นี่ไม่ใช่โรคที่ปวดศีรษะโดยตรงนะคะ แต่สาเหตุการปวดหัวก็มีจุดเริ่มจากไซนัสอักเสบ นั่นเองค่ะ

 

สาเหตุการเกิดไซนัส

 

สาเหตุการเกิดไซนัส
เพราะ ตำแหน่งของโพรงไซนัส จะอยู่รอบๆจมูก เหนือคิ้ว ทำให้เวลามีอาการอักเสบ การบวมของไซนัส หรือมีการติดเชื้อก็จะเกิดขบวนการอักเสบ บวม แดง ร้อน ทำให้เกิดอาการปวดร้าวไปบริเวณรอบๆได้จนไปถึงอาการปวดหัวได้ค่ะ แต่คนไข้กลุ่มนี้ก็จะมีอาการของไซนัส เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก โดยเฉพาะถ้ามีกลิ่นเหม็น รู้สึกแน่นๆ บริเวณจมูกหรือใบหน้า หรืออาจจะมีไข้ต่ำๆได้ ซึ่งอันนี้ก็ต้องให้หมอ หู คอ จมูก ตรวจรักษาต่อไปค่ะ

 

วิธีการรักษาไซนัส

 

วิธีรักษาไซนัส
สำหรับท่านที่ไม่ได้มีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการนะคะ เช่น ทานยาแก้ปวด ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หรือ พ่นยาสเตียรอยด์ นอกจากนั้น เพียงแค่พักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกาย และพยายามหลีกเลี่ยงสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้เช่น ฝุ่น หมอกควันมลพิษทางอากาศ ไรฝุ่น นุ่น เชื้อราในอากาศ และขนสัตว์ต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของการคัดจมูกด้วยค่ะ 

ในบางครั้งอาการปวดศีรษะอาจจะมาจากโรคที่ร้ายแรงมากกว่า 4 โรคนี้ได้อีกด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือว่าโรคเนื้องอกสมอง อาการปวดศีรษะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรละเลยนะคะ ควรต้องเข้าพบแพทย์เฉพาะทางและทำการรักษาอย่างตรงจุดค่ะ

 

ปวดคลัสเตอร์

 

3.ปวดคลัสเตอร์
อาการปวดชนิดนี้ มีความคล้ายกับการปวดไมเกรนค่ะ พบเจอได้ไม่บ่อย แต่มักเจอในผู้ชายช่วงอายุสัก 30-50 ปี ลักษณะอาการปวด จะเด่นมากที่บริเวณตา ปวดกระบอกตา ปวดในลูกตา จนรู้สึกตาแดง น้ำตาไหล และในบางรายหนังตาอาจตกร่วมด้วยได้ เพราะการปวดเชื่อมโยงเกับเส้นประสาทบนใบหน้า อาการปวดมักเกิดเป็นช่วงสั้นๆ ประมาณ 15 นาที แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง เวลาปวดมักจะทรมานมาก มีอาการกระสับกระส่าย อาการปวดมักเกิดเป็นชุดๆ เป็นกลุ่มเป็นก้อน ปวดเวลาเดิมๆ ซ้ำๆ กันเราจึงใช้คำว่าคลัสเตอร์กับโรคนี้นั่นเองค่ะ

 

สาเหตุการเกิดปวดคลัสเตอร์

 

สาเหตุการเกิดโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่อาจจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นระบบประสาทใบหน้า และสมองส่วนไฮโปทาลามัส ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมได้

 

วิธีรักษาปวดคลัสเตอร์

 

วิธีรักษาปวดคลัสเตอร์
สำหรับคนไข้ในกลุ่มนี้นะคะ เวลาปวดแล้วไปซื้อยาทานเองมักไม่ค่อยหายค่ะ เพราะ มักจะไม่ได้ตอบสนองต่อยาแก้ปวดทั่วๆไป อย่างเช่น พารา หรือพวก ibuprofen ต้องใช้ยาที่ค่อนข้างจำเพาะหรือในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะคลัสเตอร์ในระยะฉับพลันก็จำเป็นต้องมีการให้ออกซิเจน หรือฉีดยาบรรเทาอาการปวดทางหลอดเลือดดำ ฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อบรรเทาอาการปวดที่รุนแรงค่ะ

 

ปวดจากกล้ามเนื้อตึง

 

4.ปวดจากกล้ามเนื้อตึง
เป็นอาการปวดที่พบเจอได้บ่อยที่สุด คนไข้จะมีอาการปวดเหมือนมีอะไรมาบีบรัดที่ศรีษะ โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ หน้าผาก ขมับ และอาจจะลงไปถึงท้ายทอยได้ค่ะ ส่วนมากอาการปวดจะไม่รุนแรงและไม่มีอันตรายแก่ร่างกาย แค่พอรำคาญ มึนๆ ยังฝืนทำงานได้ รู้สึกเหมือนหัวไม่โล่ง

 

สาเหตุการปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อ

 

ส่วนใหญ่ มักเกิดจากความเครียด นอนไม่หลับ ทำงานเยอะ หรือการนั่งทำงานนานๆ จนเกินไปค่ะ และหากมีอาการปวด ตึง คอบ่าไหล่ ร่วมด้วย อาการปวดก็จะถูกกระตุ้นได้ง่ายด้วยค่ะ

 

วิธีการรักษาปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว

 

วิธีการรักษาปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว

แค่ทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล ก็อาจจะดีขึ้นหรืออาจจะหายได้เองถ้าได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แต่สำหรับบางท่านที่มีอาการปวด คอ บ่า ไหล่ อย่างหนักจนลามไปถึงศีรษะ การกายภาพบำบัดและยืดกล้ามเนื้อก็เป็นตัวช่วยให้อาการปวดบรรเทาลงจนถึงขั้นหายขาดได้ในที่สุดค่ะ แต่ถ้าอาการปวดศีรษะเป็นตลอดเวลาหรือทุกวัน อาจจะต้องรักษาด้วยการใช้ยารักษาโดยเฉพาะนะคะ

ถึงอาการปวดหัวส่วนมากมักจะไม่ใช่โรครุนแรง แต่ก็มักจะอยู่กับเรานาน เป็น ๆ หาย ๆ
จนบางทีคนไข้ก็คิดไปแล้วว่าไม่หายแน่ ๆ หมอก็อยากแนะนำว่า “อาการปวดศีรษะส่วนมากรักษาให้หายได้นะคะ” ถ้าได้รับการหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง ใครรู้สึกว่าอาการปวดเริ่มมีผลต่อการใช้ชีวิต การทำงาน หรือคนรอบข้าง ก็ควรปรึกษาแพทย์อย่างจริงจังนะคะ

หมอนุ่ม
พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์
แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง
 

 

ปรึกษาแพทย์ นัดแพทย์ คลิ๊ก

 

ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์

 

ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์