ระวัง ! ชามือ ชาเท้า สัญญาณเตือนของสมองและระบบประสาทที่ผิดปกติ
พูดถึงอาการชา ใคร ๆ ก็ต้องกลัวเรื่องเส้นเลือดสมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาตใช่ไหมคะ แต่จริง ๆ แล้ว อาการชาเกิดได้ตั้งแต่ความผิดปกติของสมอง ไขสันหลัง รวมไปถึงเส้นประสาทส่วนปลายได้เลยค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เจอบ่อยสุด ก็จะเป็นสาเหตุจากเส้นประสาทส่วนปลายนี่แหละค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับชั่วคราว หรือเกิดจากการใช้งานเยอะ ๆ เช่น เล่นมือถือ คลิกเมาส์ ทำกับข้าว บางครั้งก็อาจจะรู้สึกชานิ้วมือได้ หรือใครนั่งพับเพียบ นั่งยองนาน ๆ นั่งเท้าแขน ก็อาจจะมีเหน็บชา ที่พอสะบัดๆ ก็หายได้เอง ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เลยอาจจะมองข้าม และคิดว่าไม่ร้ายแรง วันนี้หมอนุ่มจาก H8 clinic จะมาพาดูสัญญาณเตือนว่า อาการชาแบบไหน บ่งบอกถึงความผิดปกติของระบบประสาทส่วนใด ถ้าอยากรู้แล้วมาดูกันเลยค่ะ
อาการชาที่ผิดปกติและควรรีบไปพบแพทย์
ชาครึ่งซีก
หากอยู่ดี ๆ เรามีอาการขึ้นมาแบบครึ่งซีกของร่างกาย อันนี้ไม่ดีแน่ ๆ ค่ะ เพราะอาการชาครึ่งซีก เป็นสัญญาณอันตราย ว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากในสมอง เพราะสมองของเรารับรู้และส่งสัญญาณประสาทควบคุมร่างกายแบบครึ่งซีก เช่นสมองด้านซ้ายคุมร่างกายด้านขวา สมองด้านขวาคุมร่างกายด้านซ้าย โดยลักษณะอาการชาครึ่งซีกอาจจะเป็นได้ตั้งแต่ ชาหน้าและแขนข้างเดียวกัน ชาแขนและขาข้างเดียว หรือ ชาทั้งหน้าแขนขาลำตัวข้างเดียวกันก็ได้ค่ะ ซึ่งหากอาการชาครึ่งซีกเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตกเฉียบพลันได้ค่ะ แต่ถ้าหากอาการเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจจะต้องระวังความผิดปกติอื่น ๆ เช่น เนื้องอกในสมอง
ชาแขนลงไปถึงนิ้วมือ ชาขาลงไปถึงนิ้วโป้งเท้า หรือชาตั้งแต่สะโพกลงไปจนถึงขา
อาจมีสาเหตุจากถูกกดทับบริเวณเส้นประสาท อาจเป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนไปกดทับ หรืออาจเป็นลักษณะของกระดูกเสื่อมกดทับเส้นประสาทในคนสูงอายุ ซึ่งอาการก็จะขึ้นกับตำแหน่งค่ะ ถ้าเป็นที่กระดูกต้นคอก็จะปวดต้นคอ ชาแขนลงไปถึงนิ้วมือ หากเป็นที่กระดูกหลังล่างก็จะปวดหลังและชาไปถึงขาและนิ้วโป้งเท้าได้เลย หรือถ้าหากใครมีอาการชาตั้งแต่สะโพกลงไปถึงขาก็อาจจะต้องระวังกล้ามเนื้อสะโพกหนีบเส้นประสาท (Piriformis syndrome) หรือที่เรียกว่า สลักเพชร นั่นเองค่ะ ซึ่งนอกจากอาการชาตื้อ ๆ หนา ๆ แล้ว อาจจะมีอาการปวดแปลบ ๆ เหมือนไฟช็อต วิ่งจากหลังและสะโพกลงไปถึงขาได้ด้วยค่ะ หากมีอาการชาแบบนี้ ควรไปพบแพทย์และรักษาอย่างถูกต้อง หากปล่อยให้เส้นประสาทถูกกดทับนาน ๆ อาจจะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้
ชาที่นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วโป้ง
ถ้ามีอาการชาที่นิ้วมืออย่างเดียว โดยที่อาการชาไม่เลยข้อมือขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นอาการของพังผืดข้อมือรัดเส้นประสาท (Carpal tunnel syndrome) ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเป็นข้างเดียว มักจะเกิดจากการใช้งานของข้อมือที่มากเกินไป ท่าที่มักทำให้เกิดอาการเช่น ทำกับข้าว บิดผ้า ใช้เมาส์หรือคีย์บอร์ด ท่าบิดมอเตอร์ไซค์ เป็นต้นค่ะ ซึ่งจะมีลักษณะเด่นคือจะชามากสุดที่นิ้วโป้ง นิ้วชี้และนิ้วกลาง (อาจจะมาถึงนิ้วนางด้านใน) แต่จะไม่ชานิ้วก้อย และอาจจะมีอาการปวดแสบร้อน เหมือนถูกไฟช็อต โดยเฉพาะตอนกลางคืนได้ อาการนี้ไม่อันตรายแต่อาจจะรำคาญ และใช้งานมือลำบาก แต่ถ้าหากเป็นบ่อยขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ อาจจะทำให้นิ้วมืออ่อนแรงได้
ชาปลายมือและปลายเท้าเข้าหาลำตัวทั้ง 2 ข้าง
ถ้าเป็นอาการชาทั้ง 2 ข้างเท่า ๆ กัน มักจะเกิดจากสภาวะหรือโรคบางอย่างที่ทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบ ที่พบได้บ่อยที่สุด คือโรคปลายประสาทอักเสบจากเบาหวาน ไทรอยด์ต่ำ และอาจจะเกิดสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อร่างกายบางชนิด ได้แก่ วิตามิน B1, วิตามิน B6 และ วิตามิน B12 ซึ่งลักษณะอาการชา มักจะเกิดจากส่วนปลายแล้วค่อย ๆ ขยายเข้าหาลำตัว เหมือนเราใส่ถุงมือถุงเท้า (glove-stocking pattern) อาการชาตามปลายมือและปลายเท้า นอกจากช่วยบอกสัญญาณเตือนการผิดปกติของระบบประสาทแล้ว ยังบ่งบอกถึงโรคต่างๆ ได้ หรือบ่งบอกว่าร่างกายอาจกำลังขาดสารอาหาร
ชาและเจ็บตามมือและนิ้วมือ
มักมีอาการชาร่วมกับอาการเจ็บตามบริเวณกระดูกและข้อต่างๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนของรูมาตอยด์ กระดูกข้อมือเสื่อม หรือโรคเกาต์ได้ หากมีอาการเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาการปวด อาจมีความทรมานมากจนอาจส่งผลต่อการใช้งานได้
สาเหตุของอาการชาที่กล่าวข้างต้นนั้นมาจากความผิดปกติภายในระบบร่างกาย แต่การใช้ชีวิตประจำวันที่ละเลย เช่น การนั่งผิดท่าเป็นระยะเวลานาน การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ชามือ ชาเท้า หรือส่วนต่าง ๆ ได้ หากผู้อ่านท่านใดกำลังกังวลใจ อยากเข้ารับการศึกษาหรือต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับอาการชามือ ชาเท้า สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ H8 Clinic คลินิกเฉพาะทางเกี่ยวกับเส้นประสาท ที่จะช่วยคุณค้นหาสาเหตุต้นตอของปัญหาอาการมือชา เท้าชา เพื่อการรักษาที่ตรงจุด รวมถึงติดตามอาการเพื่อให้คุณหายขาดจากอาการชามือ ชาเท้าค่ะ
ขอบคุณบทความจาก คุณหมอนุ่ม (พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์)
แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง H8 Clinic