ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พฤติกรรมในที่ทำงานเสี่ยงเป็น ออฟฟิศซินโดรม ไม่รู้ตัว

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) คือกลุ่มอาการหรือภาวะเจ็บปวดทางด้านร่างกายที่เกิดจากการนั่งทำงานเป็นเวลานาน ทำให้ไม่ค่อยได้ขยับตัว ท่านั่งไม่เหมาะสม หรือการใช้สายตา ความคิดเยอะๆ จนทำให้เกิดอาการที่อาจะส่งผลกระทบและ สร้างความลำบากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังทำให้ประสิทธิภาพในของทำงานลดลง ส่งผลให้ ทำงานได้ไม่เต็มที่ ไอเดียไม่แล่น คิดงานไม่ออก และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ก็อาจจะทำให้เกิดผลเสียระยะยาวได้ วันนี้ H8 Clinic คลินิกเฉพาะทางด้านโรคสมองและกายภาพบำบัด จะมาพูดถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ควรเลี่ยงในที่ทำงานที่อาจทำให้เป็น ออฟฟิศซินโดรม โดยไม่รู้ตัว รวมถึงอาการแบบไหนที่เข้าค่ายออฟฟิศซินโดรม มีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลยค่ะ

อาการที่เข้าข่าย บ่งบอกว่าคุณอาจเป็นออฟฟิศซินโดรม

  • ปวดกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะบริเวณ คอบ่าไหล่ 
  • ปวดศีรษะเรื้อรัง มึนศีรษะ
  • ปวดหลังเรื้อรัง 
  • มือชา นิ้วล็อค ปวดข้อมือ
  • ปวดตา ตาพร่า 

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นอาการส่วนใหญ่ของออฟฟิศซินโดรม แต่อาการเหล่านี้ก็อาจจะมีสาเหตุหรือโรคอื่นที่มีอาการคล้าย ๆกันได้ เราอาจจะต้องดูจากพฤติกรรมเสี่ยง ว่าเรามีความเสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรมหรือไม่ ที่เรากำลังจะมาบอกถัดไปจากนี้ค่ะ

พฤติกรรมในที่ทำงานที่เสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรมโดยไม่รู้ตัว

1.นั่งไขว่ห้าง ห่อไหล่ หลังค่อม
ไขว่ห้าง ท่าที่ใครหลายๆคนคิดว่าเป็นท่าที่สบาย แต่รู้ไหมคะ ว่าถ้านั่งนานๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนท่าอิริยาบถเลยหลาย ๆชั่วโมง จะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อบางมัดเกร็งผิดตัวผิดปกติ ตามมาด้วยอาการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อ ทำให้มีอาการปวดหลัง ร้าวลงขาหรือสะโพก ขาชา ได้ หรือบางคนอาจจะชินกับการนั่งก้มคอ ห่อไหล่ หลังค่อม ยื่นหน้าดูจอคอมพิวเตอร์ใกล้ ๆ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอบ่าไหล่ หดเกร็งตัว ทำให้ปวดคอ และอาจจะร้าวทำให้ปวดหัวได้ ซึ่งการนั่งผิดท่านี้ เป็นสาเหตุยอดฮิตที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรม หรือบางครั้งอาจจะเกิดจากระดับความสูงของโต๊ะ เก้าอี้ หน้าจอ ไม่เหมาะสม ทำให้เราเผลอเกร็งกล้ามเนื้อโดยไม่รู้ตัวก็ได้ ซึ่งถ้าเราปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ อาจส่งผลทำให้อาการปวดนั้นเรื้อรังและยากที่จะรักษาให้หายเป็นปกติได้

2.จ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ และ โทรศัพท์มือถือ โดยไม่หยุดพัก
เวลาทำงานเราจ้องจอคอมพิวเตอร์ไม่หยุด เวลาพักกลางวันก็จ้องโทรศัพท์ไม่ละสายตา แบบนี้จะเวลาที่ไหนให้ดวงตาของเราได้พักผ่อน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ระหว่างวัน จะมีอาการปวดล้ากระบอกตา ตาล้าๆ ตาพร่ามัว มองแล้วโฟกัสไม่ได้ ปวดหัวคิ้ว และขมับ จนต้องพึ่งยาแก้ปวดอยู่บ่อยๆ นอกจากนี้การดูมือถือเรามักจะเผลอดูในท่าก้มคอ ซึ่งเป็นท่าที่ทำให้ปวดคอได้ง่ายและยังเสี่ยงต่อกระดูกต้นคอเสื่อมเร็วด้วยค่ะ H8 ขอแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยการพักสายตาสัก 5 ถึง 10 นาที ต่อ 1ชั่วโมงการทำงานและ ลดการเล่นโทรศัพท์ในเวลาพักหรือในเวลาเลิกงาน เพื่อสุขภาพตาที่ดีและป้องกันการเกิดออฟฟิศซินโดรมในอนาคตได้ค่ะ

3.กดคีย์บอร์ด คลิกเมาส์ ต่อเนื่องไม่หยุด
หากใครที่ต้องพิมพ์งาน คลิกเม้าส์ลากไปมา อยู่ทั้งวัน โดยไม่หยุดพัก จนเริ่มมีอาการปวดเจ็บและชาตามฝ่ามือ นั่นคือสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าคุณใช้งานมือ และ นิ้วมือหนักเกินไปแล้ว  อย่าปล่อยให้มือต้องทำงานรับภาระหนัก สิ่งที่ควรทำคือ พักการใช้นิ้วมือและมือ เป็นระยะๆ ยืดเส้นกล้ามเนื้อให้กับมือบ้างโดยการดัดนิ้ว ยืดกล้ามเนื้อมือ แช่มือในน้ำอุ่น รวมถึงจัดวาง คีย์บอร์ดและเม้าส์ให้จับถนัดมือ ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นออฟฟิศซินโดรมได้แล้วค่ะ

การปล่อยปะละเลย พฤติกรรมดังกล่าว โดยไม่รู้ตัวเป็นระยะเวลานานจนเกิดเป็นความเคยชิน จะยิ่งทำให้ภาวะออฟฟิศซินโดรม เข้ามาเป็นปัญหาสุขภาพของคุณในอนาคตแน่นอน หากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในที่ทำงานตั้งแต่วันนี้ รีบหันมาดูแลสุขภาพตัวเอง ก่อนที่จะสายเกินแก้นะคะ