ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปวดหัวไม่หายเพราะยาแก้ปวด !!

หลายท่านที่มารักษาเรื่องปวดศีรษะเรื้อรังกับหมอ มีอาการปวดมานานหลายปี ทำยังไงก็ไม่หาย ต้องกินยาแก้ปวดเกือบทุกวัน กินแล้วก็ไม่ค่อยดีขึ้น แต่ถ้าไม่กินก็ปวดหนักเลย ไม่รู้จะทำยังไง ส่งผลต่อชีวิตและจิตใจมาก ๆ แต่รู้ไหมคะว่าอาการปวดหนักขนาดนี้ พอเราแค่พยายามหยุดยาแก้ปวดที่ทานอยู่ ก็สามารถทำให้หลายท่านอาการปวดดีขึ้นได้เลยค่ะ (แต่บอกแบบนี้คนไข้ที่มารักษาไม่ค่อยมีใครเชื่อเลยค่ะ)


อาการปวดแบบนี้เราเรียกว่า Medication Overuse Headaches (MOH) 
หรือโรคปวดศีรษะจากการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไปค่ะ ซึ่งพบได้บ่อยกว่าที่คิดนะคะ โดยเฉพาะท่านที่ชอบซื้อยาทานเองเป็นประจำต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณที่จะทำให้เกิดภาวะ MOH ก็คือ 
- ทานยามากกว่า 15 เม็ดต่อเดือน (สำหรับยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล ยาคลายกล้ามเนื้อ ไอบูโพรเฟน เป็นต้น)
- มากกว่า 10 เม็ดต่อเดือน (สำหรับยาแก้ปวดไมเกรน กลุ่ม เออร์กอต เช่น คาเฟอร์กอท โทฟาโก้ หรือกลุ่มทริปแทน เช่น เรลแพ็กซ์ อิมิแกรน รวมไปถึงยาแก้ปวดแบบรุนแรง เช่น ทรามาดอล เป็นต้น)
หากใครทานยาเกินตามนี้ 3 เดือนติดต่อกัน หรือมากกว่า ก็เข้าข่ายอาจจะมีภาวะนี้แล้วนะคะ

ในระยะแรกที่ทานยาแก้ปวดอาการยังดีขึ้นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป การทานยาแก้ปวดมาก ๆ จะทำให้อาการปวดศีรษะแย่ลง ยิ่งปวด ก็ยิ่งทานยามากขึ้น และบ่อยขึ้น เป็นวงจรการปวดที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ เพราะยาแก้ปวดจะกลับไปกระตุ้นให้สมองของเราไวต่อความปวดมากขึ้น จนสุดท้าย ต้องเพิ่มปริมาณยามากขึ้นเรื่อยๆ และทานไปแล้ว ก็ไม่หายปวดเหมือนเดิมค่ะ

ปวดหัวไม่หายเพราะยาแก้ปวด


สาเหตุเกิดจากอะไร
สำหรับสาเหตุยังไม่ชัดเจนค่ะ อาจจะเกิดทั้งจากกลไกในสมอง และโครงสร้างในสมองที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็มีงานวิจัยที่บอกว่าอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการความเจ็บปวดของสมอง ที่เมื่อใช้ยาแก้ปวดเยอะ ๆ สมองจะเริ่มไม่ตอบสนองต่อยา จึงต้องเพิ่มปริมาณยาเพื่อให้ยังได้ผลแก้ปวดเท่าเดิมและเริ่มวงจรแย่ ๆ เพราะยิ่งเพิ่มยา สมองก็จะยิ่งต้องการให้ได้ยามากขึ้นเพื่อลดอาการปวด จึงยิ่งต้องกินยาแก้ปวดมากขึ้นอีกวนไปเรื่อย ๆ ค่ะ

ปวดหัวไม่หายเพราะยาแก้ปวด


ใครเสี่ยงบ้าง
โรคปวดศีรษะที่เจอภาวะนี้ได้บ่อยที่สุด ก็คือ ไมเกรน นั่นเองค่ะ เพราะไมเกรนเป็นโรคปวดหัวที่ค่อนข้างรุนแรง และเป็นได้บ่อย ถ้าไม่กินยาก็มักจะปวดหนักจนอาเจียน ทำงานไม่ได้ และช่วงแรกก็มักจะตอบสนองดีต่อยาแก้ปวด ทำให้คนส่วนใหญ่เสี่ยงต่อการซื้อยาแก้ปวดทานเองเป็นประจำส่วนโรคปวดหัวอื่นๆ ที่เจอได้ อย่างเช่น ปวดหัวแบบ tension  หรือกล้ามเนื้อ เพราะกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีอาการปวดหัวเรื้อรังได้ค่ะ

ปวดหัวไม่หายเพราะยาแก้ปวด


วิธีการรักษา
การรักษา MOH จะเริ่มที่การหยุดยาแก้ปวดที่ทำให้เกิดปัญหา ซึ่งในระยะแรกที่หยุดยา อาจะทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มขึ้นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อสมองค่อย ๆ ปรับตัว อาการปวดหัวจะค่อย ๆ ดีขึ้น ความถี่ลดลง
ซึ่งก่อนจะหยุดยา เราจึงจำเป็นต้องให้การรักษาอื่นๆ ก่อน เพื่อไม่ให้มีอาการปวดหัวเพิ่มขึ้น เช่น การใช้ยาป้องกันไมเกรน กลุ่มยาฉีด Anti-CGRP ยาป้องกันชนิดรับประทาน  หรือในบางท่านอาจจะต้องใช้การรักษาอย่างอื่น ร่วมกันไปด้วยเช่น การฉีดโบทูลินั่มท็อกซิน การทำกายภาพบำบัด ฝังเข็ม เป็นต้น

หากใครที่มีอาการปวดศีรษะมานาน ๆ กินยาแก้ปวดมาเยอะ ๆ แล้วหลัง ๆ เริ่มกินยาไม่ได้ผลแล้ว แถมอาการปวดมากขึ้นอีก ลองเอาอาการไปปรึกษาคุณหมอดูนะคะ ถ้ารักษาได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่การเพิ่มยาไปเรื่อย ๆ แต่คือการหยุดยาแก้ปวด จะทำให้อาการดีขึ้นได้ อย่างไม่น่าเชื่อเลยค่ะ

หมอนุ่ม พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์
แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง
 

 

ปรึกษาแพทย์ นัดแพทย์ คลิ๊ก

 

ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์

 

ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์