ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์

ปวดหัวคลัสเตอร์ 

คือ อาการปวดศีรษะที่ปวดเป็นชุด ๆ (Cluster) อาการปวดจะรุนแรงมาก ปวดร้าวขมับและกระบอกตา ปวดข้างเดียวคล้ายไมเกรน แต่จะปวดเป็นชุด ๆ เป็นช่วง ๆ มาๆ หายๆ ระยะเวลาปวดสามารถเกิดได้ตั้งแต่ 15 นาทีถึง 3 ชั่วโมง อาการปวดจะสั้นกว่าไมเกรน แต่ทรมานมากกว่ามาก มักจะมีอาการร่วมด้วยคือน้ำตาไหล น้ำมูกไหล ข้างเดียวกับที่ปวด

ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน "ปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์"

สาเหตุของโรค

สำหรับสาเหตุจริง ๆ ของโรคนี้ในปัจจุบันก็ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จากการที่อาการปวดเป็นรอบ ๆ แบบนี้ ก็เลยมีข้อสันนิษฐานว่ามีสาเหตุมาจากสมองส่วน Hypothalamus และ Biological clock ที่คอยควบคุมความต้องการพื้นฐานของร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ อุณหภูมิ และฮอร์โมน ของร่างกายเราทำงานผิดปกติ เมื่อมีตัวกระตุ้น ก็จะเกิดการหลั่งสารสื่อประสาทต่าง ๆ ทำให้เส้นเลือดบริเวณศีรษะและใบหน้าขยายตัวขึ้น และกระตุ้นระบบประสาทบริเวณใบหน้า ส่งผลให้ความดันภายในร่างกายซึ่งทำให้เส้นเลือดบริเวณศีรษะและใบหน้าขยายใหญ่ขึ้นจนไปเบียดทับเส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดหัวปวดตานั่นเองค่ะ


ลักษณะอาการปวด
อาการหลัก ๆ ของปวดคลัสเตอร์จะมี 3 อย่างค่ะ

1.ปวดศีรษะข้างเดียว โดยเฉพาะบริเวณรอบกระบอกตา หรือบริเวณขมับ อาจร้าวไปท้ายทอย หรือบริเวณอื่นได้แต่ก็จะเด่นอยู่แถว ๆ รอบดวงตาเป็นหลัก โดยจะปวดมากสุด ๆ รู้สึกเหมือนตาจะถลนออกมา โดยจะปวดมาก หรือมากสุด ๆ เลยค่ะ

2.ปวดเป็นรอบ ๆ โดยจะปวดสั้น ๆ ถี่ ๆ รอบนึงประมาณ 15 นาที ถึง 3 ชม. ปวดทุกวัน เวลาเดิม ๆ โดยเฉพาะช่วงกลางคืนหลังนอนไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง โดยวันนึงอาจปวดได้ 1-8 รอบเลยค่ะ

3.มีอาการอื่น ๆ ของระบบประสาทอัตโนมัติร่วมด้วยค่ะ เช่น ตาแดง ตาบวม หนังตาตก น้ำตาไหล น้ำมูกไหล คัดจมูก หน้าผากบวม หรือบวมทั้งหน้าก็ได้ค่ะ

ซึ่งอาการปวดก็จะปวดติด ๆกัน ส่วนใหญ่ปวดไม่กี่สัปดาห์ ไปจนถึง 2-3 เดือน จากนั้นก็จะหายปวดไปได้หลาย ๆ เดือนเลยค่ะ  แต่ถ้ากลุ่มที่เป็นคลัสเตอร์เรื้อรัง ก็จะปวดติดกันเป็นปี โดยที่ไม่มีช่วงระยะเวลาที่หายปวดเลยค่ะ ซึ่งกลุ่มเรื้อรังนี้ จะรักษายากมาก และมักมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น ภาวะติดยาแก้ปวด โรควิตกกังวลซึมเศร้าตามมาได้ด้วยค่ะ


ใครเสี่ยงบ้าง
1. พันธุกรรม ถ้ามีคนในครอบครัวปวดหัวคลัสเตอร์ เราก็เสี่ยงมากขึ้นค่ะ
2. เพศชาย จะเป็นมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 3 เท่าค่ะ
3. อายุ พบมากในช่วง 20-50 ปี (แต่จากประสบการณ์หมอจะเจอหลังอายุ 30 มากกว่าค่ะ)
4. ท่านที่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์


การวินิจฉัยโรค ต้อง CT หรือ MRI ไหม
สำหรับการวิจัยฉัยว่าเป็นโรคนี้ หมอจะใช้อาการ 3 ข้อก่อนหน้านี้ ร่วมกับการตรวจร่างกาย และการทำ CT หรือ MRI เพื่อตัดโรคอื่น ๆ ในสมองออกก่อนค่ะ ถ้าเป็นปวดศีรษะคลัสเตอร์จะไม่มีความผิดปกติของสมองค่ะ เช่นภาวะหลอดเลือดสมองผิดปกติ ถ้าเป็นปวดศีรษะคลัสเตอร์จะไม่มีความผิดปกติของสมองค่ะ เมื่อทำ CT หรือ MRI แล้วผลก็จะปกติ ทำ CT หรือ MRI แล้วปกติ หมอจึงจะวินิจฉัยว่าเป็น ปวดศีรษะคลัสเตอร์ได้ค่ะ

นอกจากนี้ก็ยังต้องแยกโรคนี้จากอาการปวดศีรษะข้างเดียวอื่น ๆ เช่น ไมเกรนด้วยเพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องค่ะ ซึ่งจริง ๆ แล้วจากประสบการณ์หมอ ก็แยกไม่ยาก เพราะท่านที่ปวดคลัสเตอร์ก็จะมีอาการโรคนี้ชัดเจนมาก ๆ ค่ะ


วิธีการรักษา
สำหรับการรักษาปวดคลัสเตอร์ เป็นโรคที่หมออยากให้ทุกคนได้รับการรักษาที่ถูกต้องนะคะ เพราะโรคนี้เป็นโรคที่ปวดมาก ๆ จนมีคำเรียกว่าเป็น suicide headache เพราะมันปวดมาก ๆ จนอยากฆ่าตัวตายได้เลย ซึ่งท่านที่ได้รับการรักษาก็มักจะได้ผลลัพธ์ที่ดี โดยการรักษาจะควบคู่กันทั้งการรักษาช่วงที่มีอาการปวด และการรักษาด้วยการป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดค่ะ

1.รักษาในขณะที่มีอาการปวด
การใช้ยาพาราเซตามอล , หรือกลุ่มแก้อักเสบ NSAIDs อย่าง ibuprofen ทั่วไป มักจะไม่ได้ผล ต้องใช้ยาแก้ปวดเฉพาะกลุ่มเช่น triptans ค่ะ แต่ที่ได้ผลเร็วและดีมาก ๆ ก็คือการดม oxygen ค่ะ โดยท่านที่เป็นโรคนี้ก็อาจจะต้องซื้อ oxygen ไว้ในบ้าน เพราะการสูด oxygen 100% ที่ 12-15 ลิตรต่อนาที จะช่วยให้อาการปวดหายได้ภายใน 15-20 นาทีเลยค่ะ ซึ่งเกิดจากหลาย ๆ กลไก ทั้งการทำให้เส้นเลือดที่ขยายเกิดการหดตัว ช่วยลดการหลั่ง CGRP และ substance P สารสื่อ ประสาทที่ทำให้เกิดหลอดเลือดขยายตัว ลดการอักเสบของระบบประสาท และทำให้ hypothalamus ทำงานได้ปกติขึ้นด้วยค่ะ

2.กินยาเพื่อรักษา
นอกจากการกินยาตอนปวด ก็ต้องมีการใช้ยาเพื่อไม่ให้โรคกำเริบด้วยค่ะ เพราะเมื่อมีอาการกำเริบแล้ว แต่ละครั้ง อาจจะมีอาการได้ยาวนาน 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือนเลยทีเดียวค่ะ ดังนั้น การให้ยาป้องกันโดยเร็ว ก็จะช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของอาการปวดได้ ซึ่งจะมียาหลากหลายมากค่ะในปัจจุบัน เช่น ใช้ยากลุ่ม Calcium channel blockers อย่าง verapamil , การใช้สเตียรอยด์ในช่วงสั้น ๆ และยากันชัก ซึ่งแพทย์ก็จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ยาให้ตามความเหมาะสมค่ะ

3.ฉีดยาเพื่อรักษา


นอกจากยากินแล้ว ปัจจุบันยังมีวิธีการรักษาปวดศีรษะคลัสเตอร์ ก็คือยาฉีดในกลุ่ม anti-CGRP ชื่อ Galcanezumab ที่มีงานวิจัยรองรับและได้รับมาตรฐาน ว่าเป็นยาที่ใช้รักษาอาการปวดหัวคลัสเตอร์ได้จริง ซึ่งจากประสบการณ์หมอก็พบว่า หลายท่านตอบสนองได้ดีมากและรวดเร็ว โดยการฉีดเพียง 1 ครั้งต่อเดือนก็เริ่มเห็นผล และฉีดติดต่อกันประมาณ 1-3 เดือน ก็ช่วยให้อาการปวดหายได้ค่ะ

จากงานวิจัย https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31291515/ การให้ยา Galcanezumab 300 mg ในคนไข้คลัสเตอร์ชนิดไม่เรื้อรัง แต่มีอาการปวดบ่อย อย่างน้อย 4 ครั้งใน 1 สัปดาห์ โดยวัดผลจาก ความถี่ของอาการปวดศีรษะต่อสัปดาห์ตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังฉีด และ เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ที่ตอบสนอง (อาการปวดหัวลดลงเกิน 50%) ที่สัปดาห์ที่ 3 พบว่าการให้ยา สามารถช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการปวดหัวได้อย่างมีนัยสำคัญ

(โดยงานวิจัยนี้ ไม่ได้รวมคนไข้คลัสเตอร์ชนิดเรื้อรัง หรือ คนที่มีอาการปวดหัวจากการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด หรือคนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง)

 

ตัวอย่างงานวิจัย การฉีด Galcanezumab (Emgality หรือ Pontevia) เทียบกับยาหลอก (Placebo) พบว่ายาฉีด Galcanezumab ช่วยลดปวดคลัสเตอร์ได้จริงในช่วง 3 อาทิตย์อย่างมีนัยสำคัญ

 

งานวิจัย แสดงกราฟจำนวนคนไข้ที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาฉีด Galcanezumab (แท่งสีน้ำเงิน) เทียบกับ การฉีดยาหลอก (แท่งสีแดง) จะพบว่า
- 39 % ของคนฉีดยา Galcanezumab ได้ผลลัพธ์ 75-100%
- 19 % ของคนฉีดยา ได้ผลลัพธ์ 50-75%
- 24 % ของคนฉีดยา ได้ผลลัพธ์ 25-50%
- 10% ของคนฉีดยา ได้ผลลัพธ์ 0-25%
-  8% ของคนฉีดยา ไม่ได้ผล

 

จากประสบการณ์ของหมอ พบว่า การรักษาปวดศีรษะคลัสเตอร์อย่างถูกต้อง หรือร่วมกับการใช้ยาฉีด ก็สามารถช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น ไม่ต้องทรมานกับอาการปวดค่ะ

ต้องปรับพฤติกรรมด้วย

นอกจากการใช้ยาแล้ว จริง ๆ การปรับพฤติกรรมเช่นการเลี่ยงสิ่งกระตุ้น งดเหล้า งดบุหรี่ นอนให้พอ นอนให้เป็นเวลา ดื่มน้ำให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็ช่วยให้อาการดีขึ้นได้เช่นกันค่ะสำหรับใครที่มีอาการอย่างที่หมอเล่ามา แล้วยังไม่เคยรักษาอย่างจริงจัง ก็อยากให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้นนะคะ


 

 

ปรึกษาแพทย์ นัดแพทย์ คลิ๊ก