ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตื่นมาแล้วปวดหัว อาการแบบไหนอันตราย !!!

สังเกตกันมั้ยคะ ว่าคนที่มีอาการปวดหัวบ่อยๆ หรือ เป็นโรคปวดศีรษะบางอย่าง ทำไมชอบมีอาการปวดหัวเยอะ ตอนตื่นนอน ซึ่งเจอได้เยอะเกือบ 10% เลยค่ะ โดยเฉพาะในช่วงวัยทำงาน สาเหตุมีได้หลากหลายเลยค่ะ อาจจะเกิดการทำงานของสมองของเราเอง ที่ช่วงเช้าจะไวต่อความเจ็บปวด หรืออาจจะเกิดจากโรคหรือภาวะบางอย่างที่กระตุ้นอาการปวดหัวตอนเช้าได้

ถ้าจะให้อธิบายจากการทำงานของสมอง เชื่อว่า อาจจะเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองในส่วนของไฮโปธาลามัส ซึ่งเป็นสมองที่ควบคุมเกี่ยวการหลับตื่นของเรา และยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับความรู้สึกเจ็บปวด การควบคุมการหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทต่างๆ ดังนั้น หากเรามีปัญหาเกี่ยวกับวงจรการนอนหลับ เช่นนอนไม่เป็นเวลา นอนไม่เต็มที่ หรือสมองถูกรบกวน เราก็จะตื่นขึ้นมาได้ง่าย ยิ่งมีการสะดุ้งตื่นแบบกระทันหันหรือลุกเร็วเกินก็อาจจะกระตุ้น ทำให้เรารู้สึกมึน ๆ หรือปวดหัวร่วมด้วยค่ะ และสมองส่วนนี้ยังเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับโรคปวดหัวที่เจอบ่อย ๆ เช่นไมเกรน คลัสเตอร์ ได้ด้วยค่ะ 

แต่ถ้ามีอาการตื่นมาแล้วปวดหัวบ่อย ๆก็ต้องระวังโรคบางโรค ที่มักจะมีอาการปวดหัวช่วงเช้าร่วมด้วย และต้องมองหาว่าเรามีอาการแบบนี้หรือเปล่า คือ โรคนอนกรน ไมเกรน กล้ามเนื้อตึง และความเครียด ค่ะ

โรคนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ


1.โรคนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
ทางการแพทย์เราเรียกว่า OSA (Obstructive sleep apnea) ไม่ใช่ว่าคนที่นอนกรนทุกคน จะต้องมีหยุดหายใจขณะหลับนะคะ บางทีที่เราเหนื่อยมาก ๆ หรือนอนผิดท่า ก็อาจจะกรนเป็นครั้งคราวได้ ซึ่งก็พบว่า หากคืนนั้นเรานอนกรนเยอะ ๆ ตื่นมาก็อาจจะมีอาการปวดหัวได้ค่ะ แต่ที่ต้องสังเกตคือ ถ้าเรานอนกรนทุกคืน จนเหมือนมีหยุดหายใจเฮือก โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงเช่น น้ำหนักตัวเยอะ หรือสูบบุหรี่จัด อันนี้ต้องระวังภาวะ OSA นะคะ คนที่มีคนนอนข้าง ๆ ด้วย อาจจะสังเกตได้ง่าย แต่ถ้าคนที่นอนคนเดียว ส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ตัว แต่ก็มักจะมาหาหมอ ด้วยอาการมึนศีรษะช่วงเช้านี่แหละค่ะ เนื่องจากตอนที่หยุดหายใจ จะมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ทำให้เรานอนหลับได้ไม่เต็มที่ จะมีอาการเหมือนนอนเยอะ นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ ไม่สดชื่น มึนศีรษะตอนเช้า ส่วนบ่าย ๆ ก็อาจจะมีอาการง่วงนอน หลับใน หากมีอาการแบบนี้ก็อาจจะต้องไปตรวจการนอนหลับ (sleep test) เพื่อยืนยันอีกทีค่ะ เพราะถ้าแก้ได้ตรงจุด ก็ทำให้หายปวดหัวได้

2.โรคปวดศีรษะไมเกรน


2.โรคปวดศีรษะไมเกรน
ไมเกรนส่วนใหญ่มักปวดตอนกลางวัน โดยเฉพาะถ้าเจออากาศร้อนหรือแดดจ้าๆ แต่กลุ่มหนึ่งก็มักมีอาการปวดหลังตื่นนอนตอนเช้าได้ค่ะ เนื่องจากการอดนอน นอนไม่หลับ ความเครียด เป็นตัวกระตุ้นหลักของอาการไมเกรน ดังนั้น ถ้าคืนไหนเรานอนไม่พอ หลับได้ไม่ดี หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือหลับไปพร้อมความเครียด ก็มักจะกระตุ้นไมเกรนช่วงเช้า ทำให้ปวดหัวตอนตื่นนอนได้

3.กล้ามเนื้อตึงตัว


3.กล้ามเนื้อตึงตัว
หลายคนตอนนอนไม่ปวด แต่พอนอน ๆไป สักพัก นอนผิดท่า หรือเกร็งกล้ามเนื้อเกินไป ตื่นเช้ามา กล้ามเนื้อตึงมากขึ้นจึงมักปวดหัว มึนศีรษะได้ โดยเฉพาะคนที่มีกล้ามเนื้อแถวคอบ่าไหล่ ตึง ซึ่งมักจะมีอาการปวดร้าวขึ้นศีรษะได้อยู่แล้ว หากมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อและปวดหัวบ่อยๆ ตอนเช้า ก็ต้องคอยสังเกตว่า ท่านอนเราถูกต้องหรือไม่ หมอนและเตียงเหมาะสมหรือไม่ หากปรับท่าทางการนอนและที่นอนแล้ว ยังมีอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะเยอะ การรักษาอาการกล้ามเนื้อตึงให้ดีขึ้น ด้วยการทำกายภาพบำบัด ก็จะช่วยลดอาการปวดหัวได้ค่ะ

4.ความเครียด


4.ความเครียด
แน่นอนว่าคนที่มีความเครียด วิตกกังวล คิดเยอะ มักจะสัมพันธ์กับอาการปวดศีรษะ ทั้งกล้ามเนื้อตึง หรือ มีอาการปวดหัวแบบ tension ได้ และความเครียดเอง ยังมักจะทำให้มีปัญหาการนอนหลับ จึงยิ่งทำให้ตื่นมาปวดหัวได้ง่าย

5.ภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรวดเร็วช่วงตื่นนอน (Morning BP Surge)


5.ภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรวดเร็วช่วงตื่นนอน (Morning BP Surge)
ภาวะปกติของร่างกาย ความดันจะลดต่ำลงในช่วงนอนหลับ และสูงขึ้นอย่างรวดเร็วช่วงเราจะตื่นนอน หรือที่เรียกว่า Morning surge ดังนั้นคนที่มีโรคความดันโลหิตสูง และคุมได้ไม่ดี มีโอกาสจะมีความดันสูงมากในตอนเช้า และเป็นสาเหตุที่ทำให้ปวดหัวได้ อันนี้ต้องระวังนะคะ เพราะเป็นสัญญาณอันตราย เพราะถ้าวันไหนความดันตัวบนเราขึ้นไปสูงกว่า 180-200 มิลลิเมตรปรอท ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดสมองแตกได้ ดังนั้นใครที่มีความดันโลหิตสูง และชอบปวดหัวบ่อย ๆ ก็ควรรักษาความดันและเช็คความดันอย่างสม่ำเสมอนะคะ

อาการปวดหัวตอนตื่นนอน เจอได้บ่อย มักเป็นสาเหตุที่ไม่ได้อันตราย แต่มักจะเรื้อรังและไม่หายขาด แต่หากมีอาการปวดหัวจนตื่นขึ้นมากลางดึก ปวดอย่างรุนแรง แบบไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง อันนี้เป็นสัญญาณอันตรายที่อาจจะบอกว่ามีความผิดปกติในสมองได้ ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวก็อาจจะต้องปรึกษาแพทย์นะคะ

พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์
แพทย์เฉพาะทางระบบประสาทและสมอง
 

 

ปรึกษาแพทย์ นัดแพทย์ คลิ๊ก

 

ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์

 

ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์ปวดหัวข้างเดียวที่ไม่ใช่ไมเกรน ปวดหัวคลัสเตอร์